องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย

หัวข้อเนื้อหา

ความเป็นมาขององค์การจัดการน้ำเสีย

   องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ด้วยเหตุผลที่ว่า ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ การแก้ไขปัญหาน้ำเสียต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ. ๒๕๓๘ และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ปรากฏในมาตรา ๖ (หน้า ๔) คือ “การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับการบำบัดน้ำเสียภายในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย และการให้บริการรับบริหารหรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย รวมทั้งบริการหรือกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ” โดยวัตถุประสงค์เพิ่มขึ้นจากเดิม คือ มีการให้บริการหรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียเพื่อให้ อจน. มีอำนาจครอบคลุมในการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีระบบอยู่แล้ว สามารถเดินระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง “เขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย” หมายความว่า พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่อื่น ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา ๓
(หน้า ๒)

ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์การจัดการน้ำเสีย

   ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) หมายถึง การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดีควบคู่ไปกับการใส่ใจและดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนากิจการอย่างยั่งยืน รวมถึงการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาขององค์กรอย่างต่อเนื่องในการดำเนินกิจการโดยใช้พื้นฐานของจริยธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากิจการควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงาน คุณภาพชุมชนท้องถิ่นและสภาพสังคมโดยรวม แนวทางการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์การจัดการน้ำเสีย องค์การจัดการน้ำเสีย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐองค์กรหนึ่งใส่ใจในคุณภาพของสังคมโดยรวมได้เล็งเห็นถึงแนวทางการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสียในการผสมผสานการดำเนินกิจการเพื่อความเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม จึงได้กำหนดแนวทางในด้านงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์การจัดการน้ำเสียขึ้น โดยมีหลักสำคัญ ดังนี้

– องค์กรภาครัฐที่ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
– องค์กรภาครัฐที่เป็นผู้ผลักดัน และประสานความร่วมมือในการจัดการน้ำเสีย เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนและคุณภาพที่ดีของชุมชน

วิสัยทัศน์ ค่านิยม และพันธกิจ
วิสัยทัศน์
“บริหารจัดการน้ำเสียชุมชนเพื่อสังคมด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ค่านิยมองค์กร
มุ่งมั่นผลสัมฤทธิ์ จิตบริการ เชี่ยวชาญในหน้าที่
วัฒนธรรมองค์กร
องค์การจัดการน้ำเสีย ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งเน้นให้บุคลากรขององค์กรเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด
พันธกิจ
1. ออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนทั่วประเทศ
2. ปรับปรุงฟื้นฟู และบริหารจัดการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนทั่วประเทศ
3. ให้บริการหรือกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ
4. การพัฒนานวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์องค์กร

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย

  • กลยุทธ์ที่ 1.1 ก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้

  • กลยุทธ์ที่ 2.1 การประชาสัมพันธ์เชิงรุก และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
  • กลยุทธ์ที่ 2.2 บูรณาการเครือข่ายในการบริหารจัดการน้ำเสีย
  • กลยุทธ์ที่ 2.3 พัฒนาความรู้ทักษะด้านการจัดการน้ำเสียให้กับบุลากร

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการจัดการน้ำเสียด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

  • กลยุทธ์ที่ 3.1 พัฒนาการจัดการน้ำเสียด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
  • กลยุทธ์ที่ 3.2 บริหารการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยใช้นวัตกรรม

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

  • กลยุทธ์ที่ 4.1 ผลักดันให้องค์กรมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำ
  • กลยุทธ์ที่ 4.2 พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการความรู้ในองค์กร

อำนาจหน้าที่

   ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย พ.ศ.๒๕๓๘ (มาตรา ๖) กำหนดให้ อจน. มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับการบำบัดน้ำเสียภายในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียและการให้บริการหรือรับบริหารหรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย รวมทั้งบริหารหรือกิจการต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ

นโยบายองค์กร

1) วางแผนพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการน้ำเสีย เพื่อนำไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์การจัดการน้ำเสียของประเทศให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และมีระบบการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
2) เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถให้บริการข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะชนเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสีย รวมทั้งมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ

3) น้ำเสียได้รับการบำบัดมีคุณภาพได้ตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวม 285.00 ล้านลูกบาศก์เมตร

– ปี พ.ศ.2560 54.00 ล้านลูกบาศก์เมตร
– ปี พ.ศ.2561 55.50 ล้านลูกบาศก์เมตร
– ปี พ.ศ.2562 57.00 ล้านลูกบาศก์เมตร
– ปี พ.ศ.2563 58.50 ล้านลูกบาศก์เมตร
– ปี พ.ศ.2564 60.00 ล้านลูกบาศก์เมตร

4) ส่งเสริม เผยแพร่ ให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการจัดการน้ำเสียต่อภาคีเครือข่ายการพัฒนา

5) เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่อย่างบูรณาการ

โครงสร้างองค์การจัดการน้ำเสีย

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

   องค์การจัดการน้ำเสีย ยึดมั่นการบริการจัดการตามหลักการกำกับดูแลที่ดี มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มการกำกับดูแล องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เป็นรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปการที่มุ่งเน้นด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมทางน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การบริหารจัดการองค์กรด้านนโยบายการกำกับดูแลที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม อันเป็นการเสริมสร้างการมีศักดิ์ศรี ของการเป็นหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งสร้างความไว้วางใจและศรัทธาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ อจน. ได้มุ่งเน้นหลักสำคัญเรื่องการรับผิดชอบและความสำนึกในหน้าที่การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความโปร่งใส การสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมพัฒนาการกำกับดูแลและจรรยาบรรณที่ดีรวมทั้งการมีส่วนร่วมโดยมีแนวทางปฏิบัติที่ดีครอบคลุมการบริหารงานสำคัญในทุกด้านขององค์กรเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล อจน. จึงได้ประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการให้คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกคนในองค์กรพึงยึดถือนโยบายการกำกับดูแลที่ดีเป็นจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร อันจะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการดำเนินงาน ขององค์กรสืบต่อไป หลักสำคัญของการกำกับดูแลที่ดีอันเป็นมาตรฐานสากล 7 ประการที่ อจน. ยึดถือเป็นหลักสำคัญในการดำเนินนโยบายการกำกับดูแลที่ดี ได้แก่

1. การรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Accountability)
2. ความสำนึกในหน้าที่ด้วยขีดความสามารถและประสิทธิภาพที่เพียงพอ (Responsibility)
3. การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยสุจริต (Equitable Treatment)
4. ความโปร่งใส (Transparency)
5. การสร้างมูลค่าเพิ่มก่องค์กร (Value Creation)
6. การส่งเสริมและพัฒนาการกำกับดูแลและจรรยาบรรณที่ดี (Ethics)
7. การมีส่วนร่วม (Participation)

ทิศทางและนโยบายขององค์กร

1. การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับประชาชน จากการบำบัดน้ำเสียที่ได้คุณภาพตามมาตราฐาน

2. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Reclaim Water) และเป็นการลดปริมาณน้ำทิ้งสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำสาธารณะ อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสการเข้าถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

3. พัฒนาองค์กร และสมรรถนะบุคลากร เพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล

4. ปรับปรุงภาพลักษณ์องค์การจัดการน้ำเสีย เสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ดำเนินการ

5. รักษาสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำและสุขภาพในชีวิตประจำวันของประชาชน

6. ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจขององค์การจัดการน้ำเสีย ให้มีความเหมาะสมและสามารถดำเนินงานได้ตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์ขององค์การจัดการน้ำเสีย

7. ส่งเสริมการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการน้ำเสีย เพื่อวางรากฐานการพัฒนา ในระยะยาว ขับเคลื่อนไปสู่การเป็นองค์กรที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล “ประเทศไทย 4.0”