องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย
ข่าวสารประชาสัมพันธ์จาก องค์การจัดการน้ำเสีย

ปลัดมหาดไทยเชิงรุก ประชุมติดตามการพัฒนาคลองแม่ข่าจังหวัดเชียงใหม่ผ่านระบบ VCS ยกการดำเนินงานคลองแม่ข่า เป็นต้นแบบการช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมชุมชนเมืองให้มีสภาวะที่ดีของภาคเหนือ

วันนี้ (20 ต.ค. 64) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานพัฒนาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล  นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  นายเจริญฤทธิ์  สงวนสัตย์  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่  นายนที  ดำรงค์ นายกเทศมนตรีตำบลสันทรายหลวง  รองศาสตราจารย์ชูโชค  อายุพงศ์  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางตามหลักการทรงงาน ซึ่งได้ทรงเน้นย้ำหลัก “บวร” คือ การทำงานร่วมกันของบ้าน วัด ราชการ และจิตอาสา ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่ชาวมหาดไทยยึดถือมาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน โดยการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้นำท้องถิ่นที่สำคัญ คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นภาคีสำคัญในการแก้ปัญหาบำบัดน้ำเสียคลองแม่ข่า และการจัดการสิ่งแวดล้อมของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ วันนี้ได้เชิญนายกเทศมนตรีตำบลสันทรายหลวง ซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาลำน้ำคูคลองมาร่วมนำเสนอวิธีขับเคลื่อนการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทุกความคิดเห็น ทุกความปรารถนาดีที่ทุกคนมีกับบ้านเมือง จะเป็นแนวทางที่สำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยร่วมระดมสรรพกำลัง สรรพความคิดเห็น ประสบการณ์ ของคนในสังคม มาช่วยกันในการทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับส่วนรวม ซึ่งผมมีแนวคิดในการขับเคลื่อนงานว่า “Change for good” ซึ่งหมายถึง การจะสร้างสิ่งดีให้เกิดขึ้น ต้องเป็นเป้าหมายที่สำคัญของชีวิตทุกคน ใครที่มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะอยู่ภาคส่วนไหน และมีจิตอาสาช่วยงาน  เมื่อทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมก็จะเกิดสิ่งดีและมีค่าแก่สังคม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอยากเห็นบ้านเมืองของเรามีความสะอาด สวยงาม ผู้คนมีความรัก ความสามัคคี ช่วยกันฟื้นฟูสิ่งที่เคยดีงามและเสียหายไป ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานให้พวกเราช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด”  ซึ่ง “คลองแม่ข่า” ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผิดพลาดอยู่ นั่นคือ แต่เดิมมีความสวยงาม สะอาด ร่มรื่น แต่ปัจจุบันน้ำเน่าเสีย ลำน้ำมีความสกปรก รกรุงรัง ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ในเรื่องของการเคารพสาธารณสถาน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้สนองพระราชดำริ ในการดำเนินงานพัฒนาคลองแม่ข่า โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาและประชุมหารือร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ร่วมกันดำเนินงานแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของการพยายามทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด และทุกคนทุกฝ่ายได้รับการดูแลกัน  โดยกระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการช่วยเหลือ ติดตาม และสนับสนุนการบริหารงานแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าของจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำเสียและสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อพี่น้องประชาชน  ซึ่งเราจะให้คลองแม่ข่า เป็นต้นแบบของจังหวัดภาคเหนือในการช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง และคุณภาพชีวิต ชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง ให้มีสภาวะที่ดี เหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัย เหมาะสมกับการเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งในขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินการไปมีความก้าวหน้าพอสมควรแล้ว จากนั้น ที่ประชุมได้นำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินงานพัฒนาคลองแม่ข่า รวมทั้งข้อคิดเห็นในการพัฒนาคลองแม่ข่าให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า จากในอดีตที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ การดำเนินงานพัฒนาคลองแม่ข่า มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่จะได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนและต่อยอดให้สมบูรณ์ต่อเนื่อง โดยเน้นชุมชนคนริมคลองและบูรณาการภาคเอกชน โดยใช้ชุมชนช่วยคิด ช่วยทำ ให้เกิดมรรคผล และจะสานต่อแนวคิดการขับเคลื่อนพัฒนาคลองแม่ข่าของท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ให้สำเร็จ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน และเกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่

โดยจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินงานพัฒนาคลองแม่ข่า จำนวน 3 ช่วง ตั้งแต่อำเภอแม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอหางดง ความยาวกว่า 30 กิโลเมตร สภาพปัญหาที่สำคัญที่ผ่านมา เช่น การรุกล้ำลำน้ำ คุณภาพน้ำ สภาพตื้นเขิน และการขาดความร่วมมือของผู้ประกอบการ และชุมชน เป็นต้น การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วน ตามมาตรการต่าง ๆ มีความก้าวหน้าเป็นลำดับเช่น เช่น การจัดหาน้ำต้นทุน ภายใต้โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย ด้วยการนำน้ำดีจากคลองส่งน้ำแม่แตง การขุดลอกลำห้วย การปรับปรุงระบบ ส่งน้ำ และการปรับปรุงแก้มลิง การแก้ไขการบุกรุกที่ดิน การปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างจิตสำนึกชุมชน จิตอาสา และการปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ เป็นต้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ชูโชค อายุพงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาคลองแม่ข่า ได้ขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์ “ คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข” มีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 60 “น้ำเสีย” เป็นประเด็นสำคัญที่ต้อง ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาฯ ขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยเร่งรัดการทำงานใน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) กรมโยธาธิการและผังเมือง : การดำเนินงานก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบการระบายน้ำ ระยะที่ 2 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา (2) องค์การจัดการน้ำเสีย : การสำรวจ ออกแบบ ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของจังหวัดเชียงใหม่ และความพร้อมในทุกด้าน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในแหล่งต่าง ๆ และ (3) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น : การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ ตลอดจนการดูแลรักษา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ดังเช่นการพัฒนาคลองโอ่งอ่างที่กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำข้อสั่งการของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้เน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติในการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียของบ้านเรือน  ส่วนบ้านเรือนที่ได้ก่อสร้างไปแล้วก่อนหน้านี้ ขอให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม และกองทุนสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะร่วมกันบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้ได้มีระบบบำบัดน้ำเสียประจำบ้าน เช่น ถังดักไขมัน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการดูแลสิ่งแวดล้อม  และต้องรีบเร่งขุดลอกโคลนเลนที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้น้ำเน่าเสีย และเติมน้ำลงในลำคลองให้มากที่สุด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย เร่งดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำปิงให้แล้วเสร็จ และในระยะยาวให้องค์การจัดการน้ำเสียร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียให้ครบทั่วทั้งจังหวัด โดยขอให้ตั้งเป้าหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ผมอยากเห็นสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นกับนครเชียงใหม่ และเป็นต้นแบบให้ชุมชนเมืองอื่น ๆ โดยนำเอาสิ่งดี ๆ จากท้องถิ่นต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้  และขอฝากไปยังท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน  โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นตัวกลางในการประสานแผนและงบประมาณลงไปในพื้นที่เพื่อจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย และเรื่องอื่น ๆ ซึ่งจะได้ติดตามและหาทางทำให้ความฝันของทุกคนประสบความสำเร็จและเกิดความยั่งยืน

ข่าวสารล่าสุดจากองค์การจัดการน้ำเสีย

องค์การจัดการน้ำเสียได้รับรางวัล Compliance Award ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

องค์การจัดการน้ำเสียได้รับรางวัล Compliance Award ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้จัดให้มีโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance :GPPC) และได้เชิญหน่วยงานเป้าหมายทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมดำเนินการและรับการตรวจสอบรายการประเมินภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายในวันที่ 15 กันยายน 2566 จากการพิจารณาและตรวจสอบรายการประเมินของทุกหน่วยงานเป้าหมายที่เข้าร่วม พบว่าองค์การจัดการน้ำเสียเป็น 1 ใน 43 หน่วยงานที่มีการดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และได้รับรางวัล “Compliance Award” ซึ่งมีกำหนดการจัดกิจกรรมมอบรางวัลดังกล่าวในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ องค์การจัดการน้ำเสียได้ดำเนินกระบวนการต่างๆภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยประกาศนโยบาย  ระเบียบ แนวปฏิบัติ  และแต่งตั้งคณะบริกรข้อมูล เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลในการขอใช้ข้อมูลและช่องทางการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูล นอกจากนี้ องค์การจัดการน้ำเสียยังได้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนกระบวนการด้านความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)โดยนำระบบแพลตฟอร์มภาครัฐที่รองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาใช้งานดำเนินงานภายในองค์กร รวมทั้งจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับบุคลากรต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อีกด้วย

อ่านรายละเอียด »

องค์การจัดการน้ำเสียร่วมต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

วันที่ 7 กันยายน 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ณ กระทรวงมหาดไทย และมอบนโยบายแก่หน่วยงานในสังกัด โดยมีนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย พร้อมด้วยผู้บริหารองค์การจัดการน้ำเสีย รับมอบนโยบายตามภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินงานภายใต้เป้าหมายบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนได้มีความสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้ากัน

อ่านรายละเอียด »

วปอ.26 จับมือ อจน. จัดกิจกรรม “เยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม” เนื่องในโอกาสครบ 28 ปี วันสถาปนาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 และ องค์การจัดการน้ำเสีย สังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมจัดกิจกรรม “เยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 28 ปี วันสถาปนาจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยได้รับเกียรติจาก พลตรี ภาณุพงศ์ สุวัณณุสส์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็นประธานพิธีเปิด ก่อนกล่าวชื่นชมและ และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงานนี้ ที่ได้ทำคุณประโยชน์ ให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนที่มาร่วมงาน ได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการน้ำเสียที่มีเพิ่มมากยิ่งขึ้นทุกวัน จากการใช้ชีวิตของประชากรที่เพิ่มขึ้น นับเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างมาก หวังเป็นอย่างยิ่งจะส่งเสริมและสนับสนุน ให้มีกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของลูกหลานของคนไทยในอนาคต ด้านนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานฝ่ายกิจกรรมพัฒนาสังคม งานกิจกรรมเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม วปอ.65 กล่าวถึงที่มาโครงการเนื่องจากหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร มีเนื้อหาของหลักสูตรอยู่หลายส่วน ทั้งในด้านการศึกษาในห้องเรียน การดูงานสถานที่ต่าง ๆ การแข่งขันกีฬา สันทนาการ และส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ที่คณะนักศึกษาได้จัดมาโดยตลอด ในการศึกษาหลักสูตรนี้ คือกิจกรรมพัฒนาสังคม โดยการจัดกิจกรรมพัฒนาสังคมร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทยในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่คณะนักศึกษา ต้องการสนับสนุนให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักรู้ถึง การรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการน้ำเสียของประเทศไทย บรรยากาศจัดงานครั้งนี้นอกจาก นักศึกษา วปอ.รุ่นที่ 65 จะจัดบูธสร้างความเข้าใจในแนวทางการบำบัดน้ำเสีย, การให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่นักเรียนนักศึกษาแล้ว ยังมีกิจกรรมร่วมสนุกเล่นเกมส์ และการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน, มอบอุปกรณ์กีฬา, มอบถังดักไขมัน ให้กับ 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย, โรงเรียนราชวินิต บางเขน และโรงเรียนหอวัง ก่อนที่ทาง วปอ.65 ผู้จัดงานจะเอาใจเยาวชนที่มาร่วมงานมากกว่า 500 คน ด้วยการเปิดมินิคอนเสิร์ต “บอนซ์ ณดล” และปิดท้ายภาคความบันเทิงกับการแข่งขันฟุตบอลการกุศล นัดพิเศษ ระหว่าง นักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 65 กับ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย นำโดย ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, อนุรักษ์ ศรีเกิด, ส่งเสริม มาเพิ่ม พบกับทีมแมงปอล้อคลื่น นำโดย ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง, เสนาหอย, โตโน่ ภาคิน, ดีเจพุฒิ พุฒิชัย เกษตรสิน, หนุ่ม คงกระพัน, แตงโม พงษ์พิสุทธิ์ ฯลฯ และทีม Star Rider นำโดย เกรท วรินทร, กิก ดนัย, จอห์น บาวโว่, เก่ง ชัชวาลย์ ฯลฯ ณ สนามอินทรีจันทรสถิตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

อ่านรายละเอียด »

รมช.มหาดไทย ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ อบต.ลำโพ จ.นนทบุรี

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำองค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการองค์การจัดการน้ำเสีย นายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายสุรศักดิ์ จาดบุญนาค นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ นายสมศักดิ์ โขงรัมย์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย และเจ้าหน้าที่องค์การจัดการน้ำเสีย ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำองค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ ศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำองค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ ตั้งอยู่ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ออกแบบ ก่อสร้าง โดยองค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย ตามข้อตกลงร่วมในการจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม ระหว่างองค์การจัดการน้ำเสีย กับ องค์การบริหารส่วนตำบลลำโพ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 เริ่มเดินระบบและบริหารจัดการตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา มีลักษณะเป็น ระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดิน โดยติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อทำการบำบัดน้ำเสีย ที่มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และใช้พื้นที่ส่วนใต้ดินเป็นที่จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดในรูปแบบพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (Aquarium) รวมทั้งสามารถมองเห็นกระบวนการบำบัดน้ำเสียผ่านผนังอะคริลิคแบบใส เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับประชาชน และเยาวชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง จึงเป็นการพัฒนารูปแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้อยู่ร่วมกับประชาชนได้เป็นอย่างดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อ่านรายละเอียด »