นิพนธ์ฯ ชื่นชม ท้องถิ่นที่ดูแลทุกข์สุขประชาชนและร่วมแก้ไขปัญหา COVID-19 แนะ ปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยี พร้อมฝาก ให้รักษาชีวิตลดการตายบนท้องถนน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 ธันวาคม 2563 ที่โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยครั้งที่ 3 ประจำปี 2563
โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสาวสมใจสุวรรณ ศุภพนา นายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล ปลัดเทศบาล และบุคลากรของเทศบาล จำนวนกว่า 3,500 คนเข้าร่วมการประชุม นายนิพนธ์ กล่าวว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือหน่วยงานปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้มากที่สุด เทศบาลจึงมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยถือว่า กลไกท้องถิ่นจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทุกด้าน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถปกครองตนเองมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ก็ย่อมทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และสามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้ทันกับสถานการณ์ ทั้งจากสถานการณ์ที่เกิดจากภัยพิบัติ ปัญหาในด้านสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญทางกลไกของท้องถิ่นและท้องที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนและสนับสนุนภารกิจต่างๆของท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การแก้ไข พร้อมยกระดับการปกครองท้องถิ่นรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างๆให้ทันกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โลกในอนาคตจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น ทำอย่างไรให้ชุมชนมีการปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป และสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชนในภายภาคหน้า ท้องถิ่นต้องให้ความรู้ชุมชน เพื่อสร้างความรู้และพัฒนาทักษะด้าน e-Commerce ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการแข่งขันด้านการตลาดเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน”
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า “ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 นี้จึงขอฝากเรื่องรักษาชีวิตสร้างความปลอดภัยเพื่อลดการตายบนท้องถนนทุกคนต้องช่วยกันดูแล แม้ว่าตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตจะลดลงจาก 22,000 ราย/ปี เหลือ 15,000 ราย/ปี ซึ่งถือว่าตัวเลขยังสูงอยู่เมื่อเปรียบเทียบการสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ ขอโอกาสนี้เชิญชวนพี่น้องทุกท่านได้ตระหนักถึงการใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุด
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) บูรณาการทุกหน่วยงานร่วมมือกันและถอดบทเรียนความสำเร็จจากการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มาใช้ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตราย รวมถึงแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019(COVID-19)”